วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การตลาดตอนที่ 103 เรื่อง กลยุทธ์การขายในตลาดต่างประเทศ

เรื่อง กลยุทธ์การขายในตลาดต่างประเทศ
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม

 สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนนี้เป็นตอนเฉพาะกิจหน่อยนะครับเพราะอาจจะไม่ต่อกับตอนอื่น ๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปบรรยายที่สถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกในเรื่องกลยุทธ์การเจาะตลาดในต่างประเทศมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนใจถามผมกันมากเกี่ยวกับการทำกลยุทธ์การขายสินค้าในต่างประเทศว่าปัจจุบันบริษัทที่ผมเป็นที่ปรึกษาอยู่เค้าทำกันอย่างไรจึงเผชิญกับการแข่งขันในสถานการณ์ปัจจุบันได้
โดยแท้จริงแล้วเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำกันอยู่แล้วและตอนนี้ใกล้สิ้นปี ผู้ประกอบการควรต้องทำการสรุปและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานทางการตลาดที่ผ่านมาอยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องเล่าถึงขั้นตอนในการวางแผนแล้วนะครับเพราะผมเขียนไปหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งที่ทำแผนการตลาดสิ่งอย่าลืมหัวใจของการตลาดนะครับโดยหัวใจที่เราให้ความสำคัญได้แก่ลูกค้า คู่แข่งขัน และงบประมาณทางการตลาดนั้นเอง  ตอนนี้เรามาดูตัวอย่างกันนะครับว่า การทำกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อการส่งออกเราควรทำอย่างไรบ้าง โดยในที่นี้ผลจะแนะนำในประเด็นหลัก ๆ 3 ประเด็นคือ กลยุทธ์ แนวคิดและวิธีการในการดำเนินงานแบบคร่าว ๆ นะครับ

1.กลยุทธ์การสร้างตลาดหรือแย่งชิงส่วนตลาด (Build the market or steal market share)
แนวคิด เป็นการแย่งส่วนตลาดจากคู่แข่งขัน
วิธีการ ด้วยการเสนอสินค้าหรือข้อเสนอที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าคู่แข่งขัน  และสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ทราบถึงประโยชน์และคุณค่าต่างๆ ของสินค้าเราซึ่งเหนือกว่าคู่แข่งขัน
2.กลยุทธ์การวิเคราะห์ฤดูการขาย (Seasonality Strategies)
แนวคิด เน้นการซื้อของลูกค้าตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
วิธีการ ตรวจสอบประวัติการซื้อลูกค้า วิเคราะห์ฤดูการซื้อของลูกค้า และการแนะนำการขายให้ลูกค้าตามพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า
3.กลยุทธ์วิเคราะห์คู่แข่งขัน (Competitive Strategies)
แนวคิด พัฒนากลยุทธ์การตลาดเพื่อการแข่งขันโดยการสำรวจว่าคู่แข่งดำเนินการค้ากับลูกค้าเราอย่างไร
วิธีการ วิเคราะห์คู่แข่งขัน วิเคราะห์กลยุทธ์ของคู่แข่งขันและปฏิบัติการขายเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
4.กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product Strategies)
แนวคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสม่ำเสมอ
วิธีการ จำแนกสายผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ขายดี และ ที่ต้องการจะขาย พิจารณาสินค้าตามความเหมาะสมของลูกค้า นำเสนอและพิจารณาสินค้าให้ตรงกับลูกค้าแต่ละรายและ.ตรวจสอบและประเมินผลการขาย
5.กลยุทธ์การสร้างตรายี่ห้อ (Branding Strategies) ของบริษัท
แนวคิด เน้นการสร้างชื่อยี่ห้อ ตรายี่ห้อ เอกลักษณ์หรือตัวบ่งชี้แสดงตัวสินค้า ของบริษัท โดยหากบริษัทมีสถานะในปัจจุบันที่ผลิตสินค้าในตราของลูกค้า
วิธีการ กระตุ้นลูกค้าในตราของบริษัทมากขึ้น วิเคราะห์ลูกค้าว่ามีกี่รายที่ใช้ตราตนเอง และ กี่รายที่ใช้ตราเรา ตรวจสอบการปฏิบัติการและการประเมินผล
                6.กลยุทธ์ราคา (Pricing Strategies) แบบตรงใจลูกค้า
แนวคิด กำหนดว่าจะตั้งราคาแบบใด และราคาที่ตั้งต้องสามารถลดได้เพราะหากลดไม่ได้ลูกค้าไม่ซื้อแน่ ๆ
วิธีการ วิเคราะห์ราคาเดิมของลูกค้า คำนวณราคาที่เป็นไปได้ เน้นการสร้างราคาสูง คุณภาพสูงและสร้างความแตกต่าง
7.กลยุทธ์กระจายสินค้า และการครอบคลุมตลาด (Distribution of Product/ Coverage Strategies)
แนวคิด เจาะตลาดลูกค้าให้ครบทุกตลาด จากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
วิธีการ วิเคราะห์ลูกค้าเดิม ใน zone ต่าง ๆ (ผ่าน สถานทูต สมาคม ชมรม ฯลฯ) หาลูกค้าและเพิ่มลูกค้าให้เต็มทุกตลาด กำหนดและวางแผนวิธีการขายเพิ่ม ตรวจสอบและประเมินผล
8.กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategies)
แนวคิด ใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับคู่ค้า เพื่อให้คู่ค้าสนับสนุนตราสินค้าของเรา และ ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดให้เกิดผลสูงสุดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าของ เราในช่วงระยะเวลาที่ยอดขายปกติและไม่ปกติ
วิธีการ Up and Cross Sale โดย วิเคราะห์ลูกค้าที่ปิดการขายไปแล้ว วิเคราะห์ตลาดว่า 3 อันดับแรกของสินค้าที่ขายดี แนะนำลูกค้า เพื่อเพิ่มยอดขาย ปฏิบัติและประเมินผลการขาย
9.กลยุทธ์การตอบข้อโต้แย้งของลูกค้า
แนวคิด เพื่อเตรียมการในการตอบข้อโต้แย้งของลูกค้า
วิธีการสรุปส่งข้อคำถามของลูกค้ารายสัปดาห์ แก้ไขปัญหาร่วมกัน และทดลองปฏิบัติในการโต้ตอบลูกค้า
10.กลยุทธ์การส่งข่าวสาร (Message Strategies) ไปยังลูกค้า
แนวคิด สื่อสารถึงลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ
วิธีการ กำหนดข้อมูลกลางในการสื่อสารกับลูกค้าทุกเดือนทำการสื่อสารถึงลูกค้า โดยเน้นการแจ้งข่าวที่เป็นประโยชน์ สรุป จำนวนลูกค้าที่ Response ต่อข่าวสารที่ส่ง
11.กลยุทธ์การใช้สื่อโฆษณา
แนวคิด เพิ่มยอดขายผ่านการเชิญชวนให้เกิดการซื้อผ่านสื่อของภาครัฐและเอกชน
วิธีการ 1. จัดทำเอกสารการขาย จัดทำสื่อการขาย จัดส่งสื่อการขาย แบบ hard copy and e-copy และ จัดทำ Web-site
วิธีการ 2. การลงสื่อในวารสารการส่งออก จัดทำ Art-work
12.กลยุทธ์การออกงานแสดงสินค้า
แนวคิด เพื่อหาลูกค้าใหม่ แนะนำสินค้าใหม่ และพบปะลูกค้าเดิม
วิธีการ กำหนดแผนการในการออกงานแสดงสินค้า ออกงานแสดงสินค้าอย่างมีจุดมุ่งหมาย จัดการลูกค้าเป้าหมายจากการออกงาน


สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

การตลาดตอนที่ 112 เรื่อง ผลกระทบค่าตอบแทนของพนักงานขายต่อประภาพในการทำงาน

เรื่อง ผลกระทบค่าตอบแทนของพนักงานขายต่อประภาพในการทำงาน
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม

                สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน การขายเป็นงานอย่างหนึ่งในบรรดางานที่มีอยู่น้อยมากที่คุณสามารถหาเงินได้ทุกๆ วัน ถ้าคุณขายของบางอย่างไม่ได้ คุณก็หาเงินได้ไม่มาก แต่ถ้าขายไม่ได้เลยคุณก็รักษางานไว้ได้ไม่นาน พนักงานขายจำเป็นต้องมีความสามารถในการทำงานให้ได้ผลงานมากขึ้นทุกๆ วัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนต้องตระหนักไว้อยู่เสมอ

ตอนนี้จะตรวจสอบแง่มุมที่สำคัญของแผนการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับพนักงานขายในปัจจุบัน เราลองมาเริ่มด้วยการดูว่าบริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้กับหน่วยงานขายอย่างไร

                ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นในหน่วยงานขายที่มีผลกระทบอย่างแรงมากในด้านวัฒนธรรมและความสำเร็จไปกว่าพฤติกรรมที่ได้รับรางวัลแล้ว การออกแบบและการนำระบบรางวัลทางการขายที่มีประสิทธิผลไปใช้นั้นสัมพันธ์โดยตรงกับระดับความสำเร็จของหน่วยงานขาย

                ไม่ว่าองค์การประเภทใดก็สามารถให้รางวัลในผลการปฏิบัติงานทางการขายด้วยหนทางที่สัมพันธ์ระหว่างกันผลตอบแทนหลัก ๆ ดังนี้นะครับ
                1.รางวัลทางการเงินโดยตรง (Direct Financial) อย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนที่เป็นเงินเดือนประจำ โบนัส คอมมิสชัน รางวัลจากการแข่งขันยอดขาย โปรแกรมการเกษียณ การประกันภัย และรูปแบบอื่นๆ ของสิ่งจูงใจทางการเงิน
                2. การเลื่อนตำแหน่งทางอาชีพ (Career Advancement) อย่างเช่น ลูกค้ารายใหญ่ขึ้น และอาณาเขตการขายและการส่งเสริมการขายขยายขึ้นในองค์การ และโอกาสการพัฒนาส่วนบุคคล อย่างเช่น การฝึกอบรมและการศึกษาในระดับสูงขึ้นเป็นต้น

            3. การจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่ใช่ทางด้านการเงิน (Nonfinancial Compensation)      อย่างเช่น อาหารเย็น ของเล็กๆ น้อยๆ ใบประกาศความสำเร็จถ้วยรางวัล และความเป็นสมาชิกในกลุ่มพิเศษ (เช่น สโมสรล้านบาท นักขายมือทอง)

                ถึงแม้ว่าระบบรางวัลการขาย (Sales Reward System) จะไม่ใช่วิธีการเพียงวิธีการเดียวในการจูงใจพนักงานขายก็ตาม แต่ก็สำคัญมากที่สุด การวัดผลการปฏิบัติงานการขายแต่การไม่ได้ให้รางวัลอย่างเหมาะสมจะเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจพนักงานขายอย่างมากสุดท้ายเมื่อพนักงานขายหมดกำลังใจในการทำงาน ผลของงานก็จะออกมาไม่ได้ดีนะครับ


สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

การตลาดตอนที่ 111 เรื่อง บทสรุป 7 ประการในการสร้างแรงจูงใจ

เรื่อง บทสรุป 7 ประการในการสร้างแรงจูงใจ
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม

                สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านเรามาดูบทสรุปของธุรกิจในการสร้างแรงจูงใจกันนะครับว่าการที่บริษัทจะสร้างแรงจูงใจเพื่อให้บรรลุสู่วัตถุประสงค์ของบริษัทและของแต่ละบุคคลที่เป็นพนักงานขายแล้ว พนักงานขายจำต้องได้รับการจูงใจ ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายอย่างมากที่สุด และเป็นงานที่สำคัญมากที่สุด สำหรับผู้จัดการฝ่ายขาย ตอนนี้จะพูดถึงโปรแกรมรวมที่มีองค์ประกอบ 7 ประการในการจูงใจพนักงานขายอย่างประสบความสำเร็จกันนะครับ

                องค์ประกอบอย่างแรกเกี่ยวข้องกับความเข้าใจคอนเซ็ปท์การจูงใจ ส่วนประสมการจูงใจซึ่งประกอบไปด้วยประเภทกว้างๆ 7 ประเภทถูกนำมาใช้ ประเภทหนึ่งที่สำคัญมากได้แก่รางวัล รางวัลอาจแบ่งเป็นผลลัพธ์ภายนอก (การจ่ายค่าตอบแทนที่มีตัวตน) และผลลัพธ์ภายใน (การจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่มีตัวตน)
                องค์ประกอบประการที่สองในโปรแกรมการจูงใจได้แก่วัฒนธรรมผลการปฏิบัติงานระดับสูง วัฒนธรรมการขายหมายถึงการรวมกันของพฤติกรรม ค่านิยม ความคิด และอุปนิสัยอื่นๆ ไม่ว่าอย่างใดหรือความสามารถที่ร่วมปันหรือหาได้มาในฐานะสมาชิกของหน่วยงานขาย พนักงานขายแต่ละคนในวัฒนธรรมการขายแห่งผลการปฏิบัติงานระดับสูงจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองและในงานของพวกเขา ประสานกับเพื่อนร่วมงานของเขา และแข่งขันกันภายในกลุ่ม

                ประการที่สาม พนักงานขายมีความต้องการพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานขายมีความต้องการทำงานมากขึ้น

                ความเข้าใจว่าพนักงานขายต้องรู้ สิ่งที่อยู่ในใจพวกเขาเป็นองค์ประกอบประการที่สี่ ทฤษฎีความคาดหวังถูกใช้เพื่ออธิบายพฤติกรรมการทำงาน พนักงานขายจะสำรวจทางเลือก   พฤติกรรมและข้อได้เปรียบที่สิ่งผลมาจากการเลือกพฤติกรรมบางอย่างที่ผู้ประกอบการต้องสร้างเพื่อนำความสำเร็จมาสู่ธุรกิจ

                การรู้ทฤษฎีการจูงใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ ส่วนที่ห้าของโปรแกรมการจูงใจเกี่ยวข้องกับการรู้จักกับพนักงานขายเป็นการส่วนตัว พนักงานขายที่แตกต่างกันจะต้องการเทคนิคการจูงใจที่แตกต่างกัน ผู้จัดการฝ่ายขายต้องการสร้างความเข้าใจในตัวพนักงานขายที่ความต้องการของพวกเขาสามารถได้รับการตอบสนองโดยการทำงานเพื่อบริษัท

                การสอนงานการจูงใจที่เหมาะสมเป็นองค์ประกอบประการที่หกของโปรแกรมการจูงใจ การขาดการสอนงานหรือการสอนงานที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้พนักงานขายประสบกับความรับรู้ที่ผิดพลาดเกี่ยวกับงานและความขัดแย้งเกี่ยวกับบทบาท และความคลุมเครือด้านบทบาท การสอนงานจะเสริมการติดต่อส่วนบุคคลระหว่างพนักงานขายและผู้บริหารรวมทั้งทำให้ผู้บริหารสามารถส่งอิทธิพลต่อพนักงานขายได้

                การมองในแง่ความเป็นจริงเกี่ยวกับการจูงใจพนักงานขายเป็นส่วนสุดท้ายของโปรแกรม การจูงใจทั้งหมดในขั้นสุดท้ายจะถูกสร้างขึ้นโดยตัวเอง ดังนั้นผู้บริหารจึงสามารถทำได้เพียงปริมาณการจูงใจภายนอกที่จำกัด นอกจากนี้ แต่ละบุคคลยังได้รับการจูงใจแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น ผู้บริหารจะไม่สามารถจูงใจสมาชิกทั้งหมดในหน่วยงานขายได้โดยทันที พวกเขาควรทำให้ดีที่สุดเพื่อส่วนรวมนะครับ

สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

การตลาดตอนที่ 110 เรื่อง การสร้างแรงจูงใจเสริมด้วยวิธี (T-E-C-H-N-I-Q-U-E-S)

เรื่อง การสร้างแรงจูงใจเสริมด้วยวิธี (T-E-C-H-N-I-Q-U-E-S)
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

                สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนนี้ผมมีเทคนิค (T-E-C-H-N-I-Q-U-E-S) มาฝากเพื่อเป็นตัวอย่างของการสร้างแรงจูงใจเสริมกันนะครับ สิ่งจูงใจโดยธรรมชาติแล้วจะมีลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะตัว และร่วมปันจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งเพียงเมื่อความเคารพ สายสัมพันธ์ และความเชื่อมั่นมีอยู่ระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น พนักงานขายในบริษัทส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการหาลูกค้า ติดต่อลูกค้า และประสานงานกับพนักงานแผนกต่าง ๆ ในบริษัท

                สิ่งที่นำมาพิจารณาข้อสุดท้ายในเวลาทำการจูงใจพนักงานขายแต่ละคนก็คือ การมองในแง่ของความเป็นจริงเกี่ยวกับการจูงใจ ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายนั้น การจูงใจทั้งหมดก็คือ การจูงใจด้วยตัวเอง ฝ่ายบริหารการขายทำได้เพียงรับภาระงานได้ในระดับหนึ่ง แล้วจากนั้นพนักงานขายแต่ละคนก็ต้องรับช่วงต่อไป อีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมการจ้างงานบุคคลที่เหมาะสมจึงสำคัญมากต่อความสำเร็จของผู้จัดการฝ่ายขาย พนักงานขายจะประพฤติตนอย่างที่ทำด้วยเหตุผลตามผลประโยชน์ส่วนตัว พวกเขาได้รับการจูงใจในพฤติกรรมเนื่องจากผลตอบแทนส่วนตัว ได้แก่ เงิน การเลื่อนตำแหน่ง ความท้าทาย การเจริญเติบโต และอื่นๆ  ถ้าหากว่าบุคคลแต่ละคนรับรู้ว่าสิ่งที่มีอยู่ในตัวฉันมีมากอยู่แล้ว” บุคคลนั้นก็จะได้รับการจูงใจมากขึ้นในการปฏิบัติการเพื่อสร้างผลงาน การจูงใจเป็นอิทธิพลที่มุ่งศูนย์กลางที่ตัวเอง

                ถึงแม้ว่ามีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับการจูงใจบุคคล แต่เทคนิค (T-E-C-H-N-I-Q-U-E-S ) การจูงใจสำหรับผู้จัดการฝ่ายขายจะช่วยให้งานสำเร็จได้
                1. สอนทีมงาน (Teach Teamwork) ผู้จัดการฝ่ายขายควรพยายามสร้างทีมงานขายที่แข็งแกร่ง พนักงานขายเมื่อทำงานร่วมกันแล้ว สามารถทำงานได้ดีกว่าถ้าพวกเขาทำงานแยกกัน สร้างโปรแกรมสิ่งจูงใจที่สนับสนุนทีมงานและที่ไม่บังคับให้พนักงานขายแข่งขันกันเองมากเกินไป
                2. การมอบอำนาจ (Empower) ให้อำนาจที่จำเป็นแก่พนักงานขายทั้งหมดเพื่อปฏิบัติตามความรับผิดชอบ ฝึกอบรมพวกเขาให้ทำการตัดสินใจที่ดีต่อลูกค้า และบริษัท

                3. การสื่อสาร (communicate) อธิบายความคิดของคุณและเป้าหมายของคุณต่อพนักงานขาย การร่วมกันในวัตถุประสงค์ทั่วไปกับเป้าหมายที่กำหนดไว้สามารถเป็นแรงบันดาลใจพวกเขาได้อย่างมาก

                4. การรับฟัง (hear) ฟังพนักงานขายอย่างตั้งใจ ถามเกี่ยวกับเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของพวกเขา ตอบด้วยความเคารพ เมื่อพวกเขาตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ตามลำพังแล้ว จะเป็นการจูงใจพวกเขาสู่ความสำเร็จ

                5. การสังเกต (Notice) ผู้บริหารจำเป็นต้องยอมรับและให้การตอบแทนสำหรับความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม พนักงานขายจะพยายามบรรลุงานมากขึ้นเมื่อพวกเขาได้รับการมองเห็นคุณค่าในความพยายามของพวกเขา การยอมรับอย่างจริงใจเป็นเทคนิคการจูงใจที่ดีมาก

                6. ริเริ่มและมั่นคง (Initiate Integrity) สร้างตัวอย่างที่ดี และอย่าเปลี่ยนแผนกลางครันนะครับเพราะจำทำให้เค้าสับสนและ สร้างความเห็นชอบ ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา

                7.สอบถาม (Query) การจูงใจเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จงตระหนักในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานขายของคุณ คุณอาจต้องการที่จะปรับปรุงเทคนิคการจูงใจเพื่อก้าวให้ทันกับการพัฒนาและการเจริญเติบโต

                8.รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Unify) ผู้จัดการฝ่ายขายที่ดีจะรวมทีมงานขายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณจะอธิบายว่าพนักงานในบรรดาทุกๆ คนจะนำไปสู่ความสำเร็จมากขึ้นสำหรับแต่ละคน การจูงใจประเภทนี้จะให้วัตถุประสงค์และสนับสนุนความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายของบริษัท

                9. ยกย่อง (Exalt) การให้แรงบันดาลใจแก่พนักงานขายเป็นวิธีการจูงใจที่สำคัญ การฝึกปฏิบัติทักษะการขายมืออาชีพจะนำมาซึ่งความสำเร็จและแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง การให้คำชมอย่างจริงใจจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา อย่าทำให้พนักงานขายรู้สึกตกต่ำหรืออย่าทำให้พนักงานขายเสียขวัญกำลังใจ ทำให้เขารู้สึกว่าตนสำคัญโดยการเคารพความคิดเห็นของพวกเขา ต้องยุติธรรมและซื่อสัตย์

                10. ตั้งมาตรฐาน (Set Standards) ตั้งมาตรฐานให้สูง ทำให้พนักงานขายเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำงานให้บริษัทที่มีชื่อเสียงอยู่ พนักงานขายจะปฏิบัติงานระดับสูงขึ้นเมื่อพวกเขาเป็นตัวแทนแห่งจริยธรรมและหลักการชั้นสูง

                จากหลัก 10 ประการของเทคนิค (T-E-C-H-N-I-Q-U-E-S) คงพอจะทำให้ผู้บริหารหาวิธีในการสร้างแรงจูงใจเสริมได้อย่างดีและตรงกับความต้องการของพนักงานขายนะครับ


สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

การตลาดตอนที่ 109 เรื่อง ศึกษาและเข้าใจพนักงานขายอย่างไรให้ได้ผลงาน

เรื่อง ศึกษาและเข้าใจพนักงานขายอย่างไรให้ได้ผลงาน
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
               

                       สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนนี้เรามาหาวิธีการในการศึกษาและเข้าใจพนักงานขายกันนะครับพนักงานขายทั้งหมดจะต่างกัน อย่างไรก็ตามพวกเขามีความคล้ายคลึงกันที่สามารถช่วยด้วยการทำความเข้าใจแต่ละบุคคลและการออกแบบแผนการจูงใจของพนักงานขายจะเป็นตัวกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจในพนักงานขายแต่ละคนสร้างผลงานนะครับ

                ผู้จัดการฝ่ายขายที่คิดเกี่ยวกับพนักงานขายอาจเปรียบกับก้อนน้ำแข็ง กล่าวคือ หนึ่งในสิบส่วนอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งในสิบนั้นเป็นบุคลิกภาพของแต่ละคนที่สังเกตได้เป็นพักๆ จากงาน ส่วนที่เหลือเก้าในสิบ ไม่ได้เห็นนั้น เป็นสิ่งจูงใจของแต่ละคนที่ซ่อนเร้นอยู่และยากที่จะนำออกมาสู่ผิวและออกมาในที่โล่งที่พวกเขาสามารถได้รับการจัดการได้

                การที่จะดึงส่วนที่เหลือออกมาผู้บริหารต้องหาวิธีการในการจับคู่สิ่งจูงใจที่บริษัทกำหนดกับสิ่งจูงใจที่พนักงานต้องการ สิ่งจูงใจ (Incentives) ก็คือ แง่มุมของสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดจูงใจพนักงานขายและมีค่าเพียงพอที่จะกระตุ้นจูงใจพฤติกรรมที่มุ่งสู่นั้นเพื่อได้รับมา ผู้บริหารการขายมีความท้าทายในการสร้างสิ่งจูงใจที่สนองความต้องการของบุคคล

                ก่อนที่จะจัดโครงสร้างชุดสิ่งจูงใจ ผู้จัดการฝ่ายขายต้องระลึกถึงประเภทของสิ่งจูงใจอยู่ 2 ประเภททั่วไป สิ่งจูงใจที่จูงใจบุคคลที่ทำงานให้ดีที่สุดคือปัจจัยจูงใจหลัก และปัจจัยจูงใจเสริมนะครับ โดยตัวอย่างของปัจจัยจูงใจหลักได้แก่ รางวัลสำหรับความสำเร็จ การยอมรับสำหรับความสำเร็จ ความก้าวหน้าในงาน เสรีภาพในการบริหารตนเอง การฝึกอบรมและการประชุมการขาย ความเป็นผู้นำ การประเมินผลการปฏิบัติงาน แผนการชดเชยสิ่งจูงใจ นโยบายบริษัทและกระบวนวิธี ผลประโยชน์อื่นๆ (นอกเหนือจากเงินเดือน) โปรแกรมการปลดเกษียณ และการควบคุมดูแลเพิ่มขึ้น (More Supervision) ซึ่งผู้บริหารคงต้องเลือกสรรว่าปัจจัยใดที่พนักงานขายเหล่านั้นให้ความสำคัญ

                ส่วนปัจจัยจูงใจเสริมเป็นปัจจัยจูงใจป้องกันความไม่พึงพอใจ และจะสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับพนักงานขาย และโดยส่วนใหญ่ปัจจัยเสริมจะเป็นปัจจัยเฉพาะบุคคลหรือเป็นความต้องการส่วนบุคคลที่นอกเหนือจากปัจจัยหลัก และสามารถนำมาใช้ร่วมกันตามความต้องการของพนักงานขายดังตัวอย่างดังนี้

§       พนักงานขายบางคนชอบสิ่งจูงใจที่เป็นวัตถุ (เงิน รถยนต์ สำนักงาน โบนัส) ต่อกับสิ่งจูงใจที่ไม่ใช่วัตถุ (ตำแหน่ง คำชม อำนาจเพิ่ม การระบุชื่อในหนังสือพิมพ์)

§       ความดึงดูดต่อสิ่งจูงใจพิสัยสั้น (งานมอบหมายพิเศษ การแข่งขันทางการขาย โควตาขายสามเดือน) ต่อด้วยสิ่งจูงใจพิสัยยาว (การปลดเกษียณ แผนการเลือกหุ้น เป้าหมายการขายหนึ่งปี) แปรเปลี่ยนไปจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง

§       สิ่งจูงใจเชิงบวก (การเลื่อนขั้น โบนัส อาณาเขตการขายใหญ่ขึ้น ลูกค้าระดับสูงขึ้น) ในกรณีส่วนใหญ่แล้วจะจูงใจได้ประสบความสำเร็จมากกว่าสิ่งจูงใจทางลบ (การลดตำแหน่ง การลดเงินเดือน คำตำหนิ คำขู่)

                จากการสร้างแรงจูงใจดังกล่าวผมเชื่อว่าหากผู้บริหารนำมาใช้แบบผสมผสานกันแล้ว พนักงานขายของเรา ต้องมีขวัญ กำลังที่ดี และเอาเวลาที่มีอยู่มาทำงานให้กับบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ


สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

การตลาดตอนที่ 108 เรื่อง ผลลัทธ์จากการคาดหวังของพนักงานขายที่มีต่องานขาย

เรื่อง ผลลัทธ์จากการคาดหวังของพนักงานขายที่มีต่องานขาย
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม


                สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนนี้เรามาศึกษาผลจากการที่บริษัทได้มีการกระตุ้นไห้พนักงานขายทำงานขายอย่างมีเป้าหมายการขายกันนะครับ จากคำถาม ฉันจะได้รับรางวัลหรือไม่ถ้าหากว่าผลการปฏิบัติงานของฉันเพิ่มขึ้นเป็นคำถามยอดฮิตที่เราต้องเจอเวลาเรากำหนดเป้าหมายการขายให้กับพนักงานขาย  เช่น ดูจากพนักงานขายที่ได้รับเงินเดือนโดยตรง พนักงานขายอาจถามว่า ถ้าฉันทำงานพิเศษเพิ่ม 4 ชั่วโมงในแต่ละวันแล้ว และยอดขายของฉันเพิ่มขึ้นถึง 130 เปอร์เซ็นต์ของโควตาแล้ว อะไรจะเป็นความน่าจะเป็นที่ฉันจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นและหากบริษัทมีการกำหนดรางวัลที่ชัดเจนเช่น ในระยะสั้นพนังงานได้คอมมิสชั้นเพิ่มขึ้น  ระดับฐานเงินเดือนประจำปีเพิ่มขึ้น หรือโดยรวมแล้วผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกประมาณถึง 100 เปอร์เซ็นต์เลย แน่นอนพนักงานเกิดความพึงพอใจแน่นอนเพราะรางวัลที่ได้รับพนักงานขายเหล่านั้นรู้สึกคุ้มค่าและเกิดความพอใจในการที่ทำทันทีแต่หากรางวัลและสิ่งที่พนักงานขายได้รับไม่สอดคล้องกับความคาดหวังพนักงานขายเหล่านั้นจะมีความรู้สึกไม่พอในในงานผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะแตกต่างกันออกไป
               
ความพึงพอใจในงานและทัศนคติในงาน   ความพึงพอใจ (Job Satisfaction) ในงานแสดงถึงความรู้สึกที่มีต่องาน ถ้าหากบุคคลรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมจากผลลัพธ์ที่พวกเขาได้รับแล้ว พวกเขาก็จะพึงพอใจ พนักงานขายที่พึงพอใจไม่ได้จำเป็นต้องมีความสามารถในการสร้างยอดขายได้ดีกว่าพนักงานขายที่ไม่พึงพอใจ บางครั้งคนมีความสุขกับงานเนื่องจากพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก อย่างไรก็ตาม ความไม่พึงพอใจในงาน ผลลัทธ์ที่เกิดขึ้นจะมีดังนี้

(1) การออกจากงานสูงขึ้น
(2) การขาดงานสูงขึ้น
(3) ความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับบริษัทต่ำลง
(4) มีการร้องทุกข์และฟ้องร้องกันมากขึ้น
(5) การขโมย การก่อวินาศกรรม และการทำลายทรัพย์สิน มากขึ้น

                สุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจจะส่งผลต่อการเลิกจ้างต่อไปซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทไม่ต้องการเพราะในการพัฒนาพนักงานขายแต่ละคนบริษัทต้องเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการพัฒนาพนักงานเหล่านี้ ผู้บริหารควรพัฒนาความคาดหวังและสิ่งที่บริษัทกำหนดให้ ให้เหมาะสมเพราะ        เมื่อความคาดหวังของพนักงานไม่ได้รับการสนองแล้ว ก็จะเกิดความรับรู้ถึงความไม่เสมอภาคขึ้น และความไม่พึงพอใจในแง่มุมใดมุมหนึ่งเกี่ยวกับงานก็จะเกิดขึ้น พนักงานขายก็จะเริ่มต้นหางานใหม่ ถ้าหางานที่ดีกว่า พนักงานขายก็จะลาออก และบริษัทก็สูญเสียทรัพยากรอันมีค่าอย่างหนึ่งของบริษัทไป ผมเชื่อว่าหลาย ๆ บริษัทคงไม่อยากให้เกิดนะครับเพราะไม่งั้นแล้วบริษัทเราจะกลายเป็นโรงเรียนฝึกสอนพนักงานขายให้กับบริษัทอื่นไป


สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

การตลาดตอนที่ 107 เรื่อง พนักงานขายต้องการและคาดหวังอะไรจากงานขาย ?

เรื่อง พนักงานขายต้องการและคาดหวังอะไรจากงานขาย ?
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม

                สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านหลายตอนแล้วที่เราพูดถึงการสร้างแรงจูงใจของพนักงาน ตกลงแล้วพนักงานขายเหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่ ผู้จัดการฝ่ายขายควรตระหนักว่าพนักงานขาย ก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่มักจะพยายามสนองแรงผลักดันและความต้องการภายในผู้จัดการฝ่ายขายสามารถใช้ส่วนประกอบของส่วนประสมการจูงใจ 7 ประการที่ผมได้กล่าวไปแล้วมาเพื่อกระตุ้นแรงผลักดันและความต้องการภายในเชิงบวก ได้รับการคาดหวังว่าสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสมจะส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของพนักงานขาย ซึ่งส่งผลในการบรรลุเป้าหมายงาน ผู้จัดการฝ่ายขายควรประเมินว่าบริษัทได้เข้าใจความต้องการขั้นพื้นฐาน และความต้องประสบความสำเร็จในมุมมองต่าง ๆ ของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ

                องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการของส่วนประสมการจูงใจก็คือรางวัล ค่าจ้าง สิ่งจูงใจ และรางวัลที่ไม่ใช้เงิน ผู้บริหารต้องตระหนักว่าบุคคลย่อมต้องการที่จะรู้ถึงสิงที่มีอยู่ในงานเพื่อที่จำทำให้พนักงานเหล่านี้ตระหนักในงานและพร้อมที่จะทำงานอย่างเป้าหมายร่วมกันระหว่างพนักงานขายและบริษัทตอนนี้ผมเสนอให้ผู้ประกอบการลองใช้ทฤษฎีความคาดหวัง (Expectancy Theory) ดูนะครับ เพราะในทฤษฏีนี้จะยึดสมมติฐานว่าพนักงานขายมีความคาดหวังเกี่ยวกับว่าสิ่งใด นายจ้างก็ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เขาได้รับในสิ่งที่เค้าคาดหวังนั้นเอง

                ผมชอบทฤษฎีเพราะทฤษฏีนี้มองบุคคลว่าฉลาด มีเหตุผลซึ่งสามารถทำการตัดสินใจอย่างมีสติเกี่ยวกับพฤติกรรมในอนาคตและในปัจจุบันของตน บุคคลไม่ได้ถูกมองว่าจะได้รับการจูงใจหรือไม่ได้รับการจูงใจจากภายในแต่อย่างใด แต่ระดับการจูงใจของบุคคลถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของสภาพแวดล้อมการทำงานของตน ตราบใดที่สภาพแวดล้อมการทำงานยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายและความต้องการของพวกเขาแล้ว พวกเขาก็ได้รับการจูงใจ และสิ่งที่พวกเขาเหล่านี้คาดหวังได้แก่ความน่าจะเป็นแห่งความสำเร็จนั้นเอง
ความน่าจะเป็นแห่งความสำเร็จ     เป็นความเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามในการปฏิบัติตามงานขายที่ทำและการปฏิบัติงานจริงว่าเมื่อทำแล้วพวกเขาต้องทำได้ และทำได้แล้วพวกเค้าจะได้อะไร และสิ่งที่พนักงานขายคาดหวังผมจำแนกเป็นข้อคำถามหลัก  3 ข้อที่ผู้บริหารเองจะต้องหาวิธีการและขั้นตอนในการตอบสนองความคาดหวังของพนักงานขายโดยคำถามเหล่านี้ได้แก่

คำถามที่ 1 “ถ้าฉันทำงานหนักขึ้นแล้ว ฉันจะได้อะไรในการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปทุกคนเมื่อทำงานก็ต้องมีความคาดหวังว่าเมื่อพวกเค้าทำงานเค้าจะได้อะไร และหากต้องการทำพวกเขาจะถูกพัฒนาอะไรบ้าง ดังนั้นผู้ประกอบการเตรียมการในการสร้างแรงจูงใจและขั้นตอนต่าง ๆ ในการที่จะพัฒนาพนักงานอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนสามารถปฏิบัติ และประเมินผลตามเป้าหมายได้จริง

คำถามที่ 2 “ฉันจะได้รับรางวัลในความสำเร็จหรือไม่ การกำหนดแรงจูงใจรางวัลและเป้าหมายทางการขายต้องมีความเป็นไปได้ เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพและความสามารถในปัจจุบันของพนักงานขาย ผู้ประกอบการควรกำหนดเป้าหมาย และแรงจูงใจให้สัมพันธ์กัน อาจจะจัดระดับเป้าหมายและแรงจูงใจเป็นขั้นบันไดตามความสามารถและความพยายามของพนักงานเหล่านั้นก็ได้

คำถามที่ 3“รางวัลนั้นคุ้มค่ากับหรือไม่ แง่คิดอีกแง่หนึ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญก็คือความคุ้มค่าที่พนักงานจะได้ เพราะหากเป้าหมาย ยอกขายสูง และรางวัลมีมูลค่าน้อยเกินไปจะทำให้พนักงานขายไม่เห็นคุณค่าจากแรงจูงใจเหล่านั้น

คำถามที่ 4 “อะไรคือความน่าจะเป็นแห่งความสำเร็จสุดท้ายแล้วก็คือผลลัพธ์นั้นเองจากสิ่งที่พนักงานคาดหวัง และสิ่งที่บริษัทดำเนินการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดกำลังใจ หรือความพึงพอใจในการทำงาน และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างดีและมีความสุขส่งผมให้บริษัทได้เป้าหมายการขายตามที่ต้องการนะครับ

สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

การตลาดตอนที่ 106 เรื่อง การพัฒนาวัฒนธรรมการขาย (Develop a Sales Culture)

เรื่อง การพัฒนาวัฒนธรรมการขาย  (Develop a  Sales  Culture)


ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม

 สวัสดีครับตอนนี้เราหาวิธีการในการสร้างวัฒนธรรมการขายให้กับองค์กรกันนะครับ ก่อนอื่นเรามาเข้าใจความหมายกันก่อนนะครับ โดยที่      วัฒนธรรมการขาย (Sales culture) หมายถึง กลุ่มคุณค่า ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม และสมรรถภาพอื่นๆ ที่สำคัญรวมทั้งอุปนิสัยที่ได้มาในฐานะสมาชิกของกลุ่มการขาย วัฒนธรรมภายในกลุ่มการขายมีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมของพนักงานขาย วิธีการในการสร้างวัฒนธรรมการขายจะว่าง่ายก็ง่ายแต่จะว่ายากก็ยากนะครับและหากองค์กรใดสร้างได้วัฒนธรรมการขายจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับกลยุทธการปฏิบัติการ เนื่องจาก ฝ่ายบริหารสามารถส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมได้โดยตรงผ่านกิจกรรมและสัญลักษณ์ เทคนิคที่ผู้บริหารใช้ในการนำมาซึ่งคุณค่าและความเชื่อที่เหมาะสม ได้แก่ พิธีเกี่ยวกับระเบียบแบบแผนและแผนกิจวัตร เรื่องราว สัญลักษณ์ และภาษา

                พิธีเกี่ยวกับระเบียบแบบแผนและแผนกิจวัตร   พิธีเกี่ยวกับระเบียบแบบแผนและแผนกิจวัตร (Ceremonies and Rites) ได้แก่ กิจกรรมที่ได้วางแผนไว้อย่างรัดกุมสำหรับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งทำขึ้นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพนักงานขาย ผู้บริหารสามารถควบคุมพิธีเกี่ยวกับระเบียบแบบแผนและแผนกิจวัตรได้เพื่อให้ตัวอย่างทราบผลการปฏิบัติงานของพนักงานขาย และนำเรื่องราวหรือสิ่งที่บริษัทเห็นคุณค่า มาใช้ในการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานขาย เช่นระเบียบประเพณีในการยกย่องพนักงานในบริษัทที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นพีธีการแบบอย่างให้พนักงานคนอื่นฮึกเฮิมและอยากทำตามเป็นต้น ตัวอย่างการกำหนดพิธีการต่าง ๆ ที่ใช้กันได้แก่ การมอบรางวัลประจำปีสำหรับนักขานที่ดำเนินการบรรลุเป้าหมายการขายหรือการประชุมประจำเดือนเพื่อยอมรับบุคคลที่บรรลุเป้าหมายในงานได้ 100 % เป็นต้น

                เรื่องราว (Stories) เป็นคำอธิบายที่ยึดเหตุการณ์จริงโดยใช้หลักที่ร่วมแบ่งปันกันระหว่างพนักงานขายโดยให้พนักงานมีวัฒนธรรมในการเล่าเรื่องราวที่เจอปัญหากับลูกค้าแล้วเค้าเหล่านั้นแก้ไขปัญหาตอบข้อโต้แย้งอย่างไร เพราะหากเมื่อพนักงานคนอื่นเจอปัญหาที่เหมือนกันจะได้นำวิธีการเหล่ามาใช้ได้ทันที

สัญลักษณ์ (Symbol)   สัญลักษณ์เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวแทนถึงสิ่งอื่น ในความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว พิธีเกี่ยวกับระเบียบแบบแผน เรื่องราว สโลแกน และแผนกิจวัตรเป็นสัญลักษณ์ สัญลักษณ์เหล่านี้แสดงเป็นสัญลักษณ์ของค่านิยมที่ถือครองซึ่งโดยองค์การ ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยให้ปริญญาบัตร องค์การให้รางวัลความสำเร็จในการขายเป็นต้น

ภาษา  (Language) บริษัทหลายแห่งได้ใช้สุภาษิต สโลแกน คำอุปมาอุปไมย หรือรูปแบบภาษาอื่นๆ เพื่อสื่อความหมายพิเศษต่อพนักงาน สโลแกน (Slogans) สามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วและย้ำด้วยคำพูดได้โดยพนักงานของบริษัทและลูกค้าได้รับทราบ เช่น โชคดี ติ๋มซ่ำ ใช้สดเต็มคำ อร่อยเกินราคา เป็นต้น

ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและวิธีการสื่อสารวัฒนธรรมต่อหน่วยงานขาย จึงเป็นบทพิสูจน์พื้นฐานเบื้องต้นขององค์การที่จะให้เกิดการสร้างและการรับรู้ที่ดีต่อการขายของพนักงานต่อองค์กร ผู้ประกอบการอย่าลืมกำหนดและสร้างวัฒนธรรมการขายแบบนี้เสียจะทำให้พนักงายของเราทราบในสิ่ง ๆ และมีแรงจูงใจที่ดีในการทำงานในบริษัทเรานั้นเองครับ


สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com