วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การตลาดตอนที่ 42 ข้อดีข้อเสีย และ วิธีการนำสื่อทางการตลาดแบบตรง-สื่อไปรษณีย์-

เรื่อง ข้อดีข้อเสีย และ วิธีการนำสื่อทางการตลาดแบบตรง-สื่อไปรษณีย์-
มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจไทย (ตอนที่ 1)
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม

                สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนนี้เราจะมาศึกษากันนะครับว่าชนิดของสื่อสำหรับการทำการตลาดแบบตรงนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก่อนอื่น เราคงจำกันได้นะครับ ว่าสื่อทางการตลาดแบบตรงหลัก ๆ ที่เราใช้กันประกอบไปด้วยสื่อต่าง ๆ 5 ดังนี้ครับ
                1. การตลาดแบบตรงโดยใช้สื่อไปรษณีย์ (Direct Mail)
                2.  การตลาดแบบตรงโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
                3. การตลาดแบบตรงโดยใช้สื่อสาธารณะ (Mass Media Direct Response)
                4. การตลาดแบบตรงโดยใช้สื่อทางโทรศัพท์ (Tele-Marketing)
                5. การตลาดแบบตรงโดยใช้สื่อทางแคตตาล็อก (Catalog Marketing) 
               
                โดยในการใช่สื่อแต่แต่สื่อจะขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการเห็นถึงความเหมาะสมของสื่อและจะนำมาใช้ให้ตรงกับการรับรู้สื่อของลูกค้าอย่างไร เราลองมาดูกันนะครับว่าชนิดของสื่อสำหรับการตลาดแบบตรงแต่ละสื่อมีข้อดี ข้อเสีย และเราสามารถนำไปประยุกต์ช้กับธุรกิจของเราได้อย่างไรบ้าง

                ·  การตลาดแบบตรงโดยใช้สื่อไปรษณีย์  (Direct Mail)

                เป็นสื่อที่นิยมใช้สำหรับการตลาดแบบตรงยุคแรก  มีลักษณะพิเศษคือสามารถเข้าถึงลูกค้าโดยตรง  มีความเป็นไปได้ที่ผู้รับจะเปิดอ่าน  และรับรู้การสื่อสารเป็นไปได้ค่อนข้างสูง  สามารถกำหนดระยะเวลาในการสื่อสารได้อย่างชัดเจน  เป็นวิธีการที่สามารถเริ่มได้ทันที  เห็นผลชัดเจน  ทำง่าย  โดยการตลาดแบบนี้จะทำได้โดยการส่งไปรษณียบัตร  หรือแผ่นโปสการ์ด  จดหมาย  แผ่นพับ  ใบปลิวโฆษณา  และจุลสาร  เป็นต้น
ข้อดี                      
                                1.  สามารถเลือกและระบุลูกค้าเป้าหมายได้
                                2.  เลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ชัดเจนตามการแบ่งส่วนลูกค้าตามเกณฑ์ภูมิศาสตร์
                                3.  สามารถประเมินผลการตอบกลับจากลูกค้าได้เร็ว
                ข้อเสีย  
                                1.  ราคาต้นทุนต่อหน่วยของลูกค้าที่ตอบกลับค่อนข้างสูง
                                2.  ทราบเฉพาะชื่อและที่อยู่ของลูกค้า แต่ปัจจัยอื่น ๆ ของลูกค้าอาจจะไม่ทราบ และไม่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า
                                3.  ลูกค้าส่วนใหญ่พอเปิดอ่านมักไม่สนใจที่จะเก็บไว้และมักจะทิ้งจดหมาย
       
                การนำไปใช้                         
                                1.  เมื่อผู้ประกอบการทราบชื่อและที่อยู่ของลูกค้าชัดเจน
                                2.  เมื่อสินค้าหรือบริการมีเนื้อหาในการสื่อสารมาก
                                3.  เมื่อมีการแข่งขันสูง

                โดยวิธีการแรกนี้ค่อนข้างง่ายนะครับแต่ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างเป็นต้นทุน การสื่อสารกับลูกค้าทางไปรษณีย์ที่ดี ผู้ประกอบการควรรู้จักลูกค้าจริง ๆ เช่น การส่งจดหมาย ชื่อผู้รับที่ชัดเจนก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ผู้รับมีการเปิดอ่านจดหมาย หากผู้ประกอบการ ส่งถึงใครก็ไม่ทราบเช่น ส่งท่านเจ้าของบ้าน…… เชื่อเลยครับว่า ลูกค้าเราไม่เปิดแน่นอน แต่ถ้าเราส่งถึงคุณ สมมุตินะครับว่าชื่อ คุณเชาวลิต แน่นอนครับ ผมว่าคุณเชาวลิตคงต้องเปิดแน่ถ้า มีคนส่งจดหมายและพิเศษถึงเราจริง ๆ ตอนหน้าเรามาดูกันนะครับว่าวิธีการอื่น ๆ เค้าทำกันอย่างไร


สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่ www.dollarsrich.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น