วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การตลาดตอนที่ 5 สถานการณ์ทางการตลาด

เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด
เพื่อความเป็นเลิศในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด
ผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น
คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในสัปดาห์นี้ ผมมีเครื่องมือในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาดมาฝากนะครับ โดยทั่ว ๆ ไปเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาดเราจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า SWOT Analysis นั่นเอง  หลายคนสงสัยว่า SWOT Analysis  วิเคราะห์ไปเพื่ออะไรและมีประโยชน์สำหรับนักการตลาดมากน้อยแค่ไหน ต้องบอกเลยนะครับว่า SWOT Analysis มีความสำคัญมากต่อนักการตลาด เพราะจำทำให้นักการตลาด ทราบศักยภาพของตนเองในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะหากในการวิเคราะห์และการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด เราไม่ได้นำ SWOT Analysis  มาใช้ก็เท่ากับว่า เรานั่งเทียน ทำกลยุทธืทางการตลาดนั้นเอง ในที่นี้ผมจะแยกประเด็นในการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ส่วนดังนี้นะครับ

ส่วนที่ 1 สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Factors) เป็นปัจจัยที่นักการตลาดสามารถควบคุม ปรับเปลี่ยน ได้ตามความเหมาะสม โดยสภาพแวดล้อมภายในจะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ผ่านมาของธุรกิจ โดยในการวิเคราะห์จะพบว่า หากปัจจัยภายในเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลดีต่อธุรกิจเราจะเรียก จุดแข็ง (Strength) หรือเราใช้ S เป็นตัวย่อ และหากปัจจัยภายในเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลไม่ดีต่อธุรกิจเราจะเรียก จุดอ่อน (Weakness) หรือเราใช้ W เป็นตัวย่อ โดยปัจจัยภายในทางการตลาดได้แก่  ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า และการส่งเสริทางการตลาด
การวางแผนการตลาด เราจะเน้นในส่วนของการใช้ส่วนประสมทางการตลาดการตลาดเป็นสำคัญนั้นเองครับ

ส่วนที่ 2 สภาพแวดล้อมภายนอก (External Factors) เป็นปัจจัยที่นักการตลาดไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ โดยในการวิเคราะห์ ผู้ประกอบการต้องมองภาพไปในอนาคตว่าหากปัจจัยเหล่านี้ภายใน  5 ปีเกิดการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อการดำเนินงานอย่างไร โดยที่หากปัจจัยภายนอกเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลดีต่อการดำเนินงาน เราจะเรียก โอกาส (Opportunity) หรือเราใช้ O เป็นตัวย่อ แต่หากปัจจัยภายนอกเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลไม่ดีต่อธุรกิจ เราจะเรียก อุปสรรค (Threat) หรือเราใช้ T เป็นตัวย่อ โดยสภาพแวดล้อมภายนอกจะมี 2 ระดับคือระดับจุลภาคและระดับมหภาค ดังแสดงในรูปภาพที่1

โดยในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในระดับมหภาคประกอบไปด้วย การเมืองและกฎหมาย (Political and Legal)  เศรษฐกิจ (Economic)  สังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural)  เทคโนโลยี (Technology)  สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural Environment) และการแข่งขัน (Competition)

ส่วนในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมจุลภาคจะเป็นสภาพแวดล้อมที่นักการตลาดไม่สามารถควบคุมได้อีกประเภทหนึ่งแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกว่าแบบมหภาค โดยสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้แก่ ผู้ขายปัจจัยการผลิต (Supplier) คนกลางทางการตลาด (Middleman) และลูกค้าหรือตลาด (Customer/Market)  นั้นเองครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น